วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บ้านห้วยห้อม

ที่ตั้ง

          บ้านห้วยห้อม ตั้งอยู่ในบริเวณภูเขาในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทางทิศตะวันออกของอำเภอแม่ลาน้อย การเดินทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลย 108 ระยะทางประมาณ 134 กิโลเมตร จนถึงอำเภอแม่ลาน้อย แล้วเดินทางไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1266 อีกประมาณ 35 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวหมู่บ้าน ลักษณะโดยทั่วไปของหมู่บ้านตั้งอยู่บนไหล่เขา มีแหล่งน้ำ และทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อากาศเย็นตลอดทั้งปี



ประวัติความเป็นมา

        บ้านห้วยห้อม เป็นหมู่บ้านชนเผ่ากระเหรี่ยง กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า “ปกาเกอญอ” ก่อตั้งมานานประมาณ 200 ปี ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ชื่อ ผู้เฌ่าโกร่บอ และแม่เฌ่าแอ๊ะพอ หากคิดเวลาคิดเป็นชั่วคนก็ได้ ประมาณ 7 ชั่วคน เรียกตามภาษาถิ่นว่า “ซอติ” หรือ “ซอปิ” หมายถึงผีไก่น้อยที่ชอบไล่คน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า ในการก่อตั้งครั้งแรก มีจำนวนคอบครัว 3 ครอบครัว ต่อมาจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้น โดยมีชาวบ้านอพยพมาจากหมู่บ้านต่างๆ ได้แก่ บ้านแม่สะกั๊ว บ้านแม่งะ บ้านแม่สะปึ๋งเหนือ บ้านแม่สะแมง และบ้านหนองม่วน จนกรมการปกครองจึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านห้วยห้อม หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย มีนายเคแฮ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก




          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านห้วยห้อมถึง 3 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2521 ตามลำดับ และได้พระราชทานสิ่งของ พันธุ์แกะให้กับพสกนิกร และได้ทรงมีพระราชดำรัสกับชาวบ้านห้วยห้อม ให้ช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำและป่าไม้ จึงทำให้ผืนป่าแห่งนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้


วิถีชีวิตและอัตลักษณ์

           ชาวบ้านห้วยห้อมส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงปกาเกอญอ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ใช้ตัวอักษรตระกูลเดียวกับตัวหนังสือพม่า โดยเรียกตัวหนังสือประเภทนี้ว่า “ลิ วา” ส่วนในประเทศไทยมีมิสชันนารีได้พัฒนารูปแบบภาษาเขียนจากตัวอักษรโรมันประเภทนี้เรียกว่า “ลิ โร เหม่” มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ด้านสีสัน โดยผู้ชายจะนิยมใส่เสื้อทอสีแดงเรียกว่า “เช กอ” ใส่กางเกงขาทรงกระบอก ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดจะใส่เสื้อทอทรงกระบอกสีขาวเรียกว่า “เช ว่า” ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ผ้าซิ่นทอและใส่เสื้อทอสีดำ ในอดีตชาวบ้านห้วยห้อมจะนับถือผี และมีความเชื่อเกี่ยวกับผี หากจะประกอบพิธีกรรมต่างๆ จะเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ โดยมีหมอผีประจำหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบพิธี ต่อมามีผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์เข้ามาในหมู่บ้าน จึงทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ส่งผลให้ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ของชาวบ้านได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมสังคมในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงประเพณีและวัฒนะรรมที่สำคัญๆ ของหมู่บ้านไว้ เช่น ประเพณีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ การแต่งกาย การลงแขก การดำหัวผู้ใหญ่ งานศพ และพิธีเกิด เป็นต้น



           บ้านห้วยห้อมเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติและขุนเขา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันจึงเป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่คือการทำนา โดยส่วนมากปลูกข้าวนาปี แบบขั้นบันได ไว้บริโภคในครัวเรือน รองลงมาก็เป็นการปลูกพืชสวน ไม่ว่าจะเป็น หมาก เสาวรส หรือแม้กระทั่งกาแฟ ตลอดจนพืชพื้นเมืองต่างๆ ทั้งยังนิยมการเลี้ยงสัตว์อย่างวัว ควาย และแกะพันธุ์ตัดขน มีการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง พอมีพอกิน รายได้หลักมาจากการปลูกกาแฟอราบิก้า (กาแฟสด) และการทอผ้าขนแกะ เนื่องจากความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของชนเผ่าปกาเกอญอ และธรรมชาติที่สวยสดงดงามนี้เอง จึงทำให้บ้านห้วยห้อมเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการการชื่นชมวิถีชีวิตชนเผ่าและศึกษาธรรมชาติแบบโฮมสเตย์ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

ผ้าทอขนแกะ

          การทอผ้าขนแกะบ้านห้วยห้อม เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 โดยกลุ่มมิชชันนารีที่มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ได้เห็นการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน ซึ่งใช้ฝ้ายพื้นเมืองที่ปลูกเองนำมากรอเป็นด้ายทอผ้า จากนั้นได้นำความรู้เกี่ยวกับการใช้ขนแกะมาทำเป็นเส้นด้ายสำหรับทอผ้าสอนให้ชาวบ้าน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จที่บ้านห้วยห้อม และได้พระราชทานพันธุ์แกะให้ชาวบ้านห้วยห้อมเลี้ยงเพื่อตัดขนมาทำทอผ้า และได้รวมกลุ่มเป็นกลุ่มทอผ้าขนแกะของหมู่บ้านขึ้น เป็นผ้าทอที่มีความนุ่ม ลวดลายสวยงาม และประณีต จากการทอขนแกะด้วยมือ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่ได้มีทั้งผ้าทอที่ทอมาจากขนแกะล้วนๆ และผ้าทอที่ผสมผสานระหว่างขนแกะและเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน โดยใช้ด้ายยืนเป็นเส้นด้ายจากฝ้าย ส่วนด้ายพุ่งเป็นเส้นด้ายจากขนแกะ ส่วนใหญ่นิยมทอเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมเตียง หรือผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น



           กระบวนการทอตั้งแต่เริ่มแรกจนเสร็จสิ้นยังคงการทอแบบโบราณ โดยเริ่มจากนำขนแกะที่ตัดได้มาทำความสะอาดด้วยการซักด้วยแชมพู หรือผงซักฟอก จากนั้นนำไปตากให้แห้ง คัดแยกเอาเศษหญ้าและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ออก นำขนแกะที่ได้มาดึงยืดเพื่อให้มีความนุ่ม หวีขนแกะโดยใช้แปรงหวีเพื่อให้ฟู นำมากรอเป็นเส้นด้าย แล้วจึงใช้ด้ายผูกกับไม้และเข้ากับเอว หรือที่เรียกว่า “กี่เอว”



          กลุ่มทอผ้าขนแกะจะใช้เวลาว่างจากการทำเกษตรในการดำเนินการผลิต โดยให้ตัวแทนกลุ่มจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้ศูนย์ศีลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นหลัก และผลิตภัณฑ์บางส่วนได้ส่งจำหน่ายตามแหล่งรับซื้อ หรืองานเทศกาลสำคัญของจังหวัด ทำให้สมาชิกมีรายได้ที่พอเพียงเลี้ยงชีพได้ และผลิตภัณฑ์ผ้าทอขนแกะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพระดับ 5 ดาว และเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน

กาแฟห้วยห้อม

          กาแฟอาราบิก้ามีการนำเข้ามาปลูกที่บ้านห้วยห้อม ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 โดยกลุ่มมิชชั่นนารี ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้นำต้นกาแฟอาราบิก้ามาปลูกเพิ่ม และในปีพ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ได้นำกาแฟเข้ามาปลูกเพื่อช่วยเหลือราษฎรพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร และเพิ่มรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการปลูกกาแฟกันมากขึ้น อีกทั้งยังขยายจากบ้านห้วยห้อมไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงจนมีพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น การปลูกกาแฟที่บ้านห้วยห้อมจะให้ความสำคัญกับการปลูกแบบปลอดสารพิษอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะประหยัดต้นทุนในการปลูกแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ ในหมู่บ้าน และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะได้กาแฟที่มีคุณภาพปลอดสารพิษตกค้างอย่างแน่นนอน กาแฟอาราบิก้าเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ดีในระดับความสูงประมาณ 800 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อีกทั้งยังจะทำให้ได้กาแฟที่มีรสชาติเข้มข้น หอมกรุ่นอีกด้วย และเนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่อยู่ในบ้านห้วยห้อม จึงได้ชื่อเรียกว่า “กาแฟห้วยห้อม”



          ปัจจุบันชาวบ้านห้วยห้อมสามารถผลิตกาแฟแบบครบวงจรตั้งแต่การเพาะกล้ากาแฟ การปลูก การเก็บ ไปจนถึงการคั่ว และบดกาแฟ จนกระทั่งการบรรจุหีบห่อที่มีความสวยงามเหมาะกับซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการชงกาแฟให้แก่นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองรสชาติอันหอมกรุ่นของกาแฟอีกด้วย

สถานที่ท่องเที่ยว/โบราณสถาน/โบราณวัตถุ

บ้านพักโฮมสเตย์



            การพักผ่อนที่โฮมสเตย์บ้านห้วยห้อมนับเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะสัมผัสวิถีชีวิตของชาวเผ่าปกาเกอญอ เห็นธรรมชาติที่สวยงาม และสภาพอากาศที่เย็นตลอดเกือบตลอดทั้งปี ที่นี่มีสมาชิกบ้านที่พร้อมบริการบ้านพักแบบโฮมเสตย์ทั้งหมด 5 หลัง และกำลังจะขยายเพิ่มในอนาคต โดยแต่ละหลังรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 10-20 คน มีบริการอาหารพื้นบ้านในราคาถูก

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์



          เนื่องจากกาแฟอาราบิก้าเป็นพืชที่ต้องอาศัยร่มเงาจึงจะสามารถเจริญเติบโต และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง จากการปลูกกาแฟของชาวบ้านทำให้เกิดการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่ปลูกกาแฟ ได้แก่ ลูกเนียง หมาก เสาวรส พริกไทย ดีปลี พลู พืชผักและสมุนไพร เจริญเติบโตอยู่ร่วมกันทำให้เป็นการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ มีทั้งพืชเพิ่มรายได้ และพืชอาหาร อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการลดการบุกรุกทำลายป่า และลดการเผาป่า เนื่องจากชาวบ้านใช้เวลาในการดูแลรักษาต้นกาแฟจึงไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติมและต้องรักษาไร่กาแฟไม่ให้ถูกไฟป่าเผา ดังนั้นหมู่บ้านห้วยห้อมจึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เป็นอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับธรรมชาติ พรรณพืชต่างๆ ที่ขึ้นอยู่สองข้างทางระหว่างการเดินชมธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำจากลำห้วยเพื่อใช้ในการทำนาแบบขั้นบันไดโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรใดๆ เพียงแต่ใช้การไหลของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่นี่ มีบ่อน้ำธรรมชาติสำหรับการเลี้ยงปลา และพืชน้ำชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถเยี่ยมชมการเลี้ยงแกะซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของหมู่บ้านห้วยห้อมอีกอย่างหนึ่งด้วย


ขอขอบคุณ ข้อมูลและรูปภาพจาก web: www.lannavillage.com